วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ชายฝั่งทะเลที่บางขุนเทียน


ชายฝั่งทะเลของไทยปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่ากำลังถูกปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะคุกคาม ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันแต่ระดับของความรุนแรงที่มากที่สุดกลับเป็นพื้นที่อ่าวไทยตอนใน หรืออ่าวไทยช่วงตอนบนรูปตัว ก.ไก่ ในพื้นที่ชายฝั่งของกรุงเทพมหานครกับอีก 3 สมุทรคือ สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำสำคัญ ๆ 4 สายหลักคือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง ไหลลงมาตรงจุดนี้ การศึกษาทางด้านอุทกศาสตร์ อุทกวิทยา และขบวนการการเคลื่อนที่ของตะกอนและสภาพการกัดเซาะบริเวณชายฝั่งทะเล ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง การกัดเซาะชายฝั่งที่บางขุนเทียนถือว่าเป็น 1 ใน 17 พื้นที่ประสบปัญหาการกัดเซาะในบริเวณอ่าวไทยตอนบน โดยรายงานระบุว่าในแต่ละปีชายฝั่งบางขุนเทียนถูกกัดเซาะลง 815 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายปีละ 37 ล้านบาท
สาเหตุของสภาพการกัดเซาะชายฝั่งในบริเวณอ่าวไทยตอนบน ส่วนหนึ่งเกิดจากกิจกรรมการใช้ประโยชน์จากชายฝั่งทะเลที่ไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดลงของพื้นที่ป่าชายเลนในอัตราที่รวดเร็วจากการตัดไม้เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและกิจการเผาถ่าน การล้มตายของต้นไม้เนื่องมาจากมลพิษของน้ำเสีย และถูกซัดล้มในเวลาที่มีคลื่นลม พายุรุนแรง การเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินจากป่าชายเลนไปเป็นพื้นที่ทำนาเกลือและนากุ้ง ซึ่งทำให้สูญเสียปราการสำคัญทางธรรมชาติที่ช่วยรักษาแนวชายฝั่งไม่ให้ถูกซัดเซาะโดยคลื่นลมซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งผลกะทบมากที่สุด
นอกจากนี้ การสร้างเขื่อนเก็บน้ำในแม่น้ำต่าง ๆ ยังเป็นสาเหตุให้ตะกอนที่ลงมาถึงปากแม่น้ำมีปริมาณลดลง เพราะส่วนหนึ่งถูกกักไว้บริเวณหน้าเขื่อน ทำให้ปริมาณตะกอนที่จะมาทับถมทดแทนมีน้อยลง และยังประกอบกับมีคลื่นลมในทะเลพัดพาตะกอนโคลนหรือทรายออกจากชายฝั่งด้วย
การรุกคืบอย่างต่อเนื่องของทะเลทำให้ชาวบ้านใช้วิธีทิ้งหินป้องกันน้ำเซาะได้ผล แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพราะต่างคนต่างทำ จึงนำมาประยุกต์กับแนวทางแก้ไขปัญหาของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ที่ทำโครงการทดลองทิ้งหินเป็นแนวเขื่อนขึ้นมาในช่วงปี 2536-2537 จากนั้นได้เสนอโครงการต่อกรุงเทพมหานคร แม้วิธีนี้จะไม่ได้แก้ปัญหาดีที่สุด แต่ก็ถือได้ว่าทำให้ปัญหาลดความรุนแรงลงได้บ้าง นอกจากนี้ยังได้ปลูกป่าชายเลนหลายแปลง โดยหวังว่า รากต้นโกงกางจะช่วยยึดเกาะหน้าดินเรียกชายฝั่งคืนจากทะเลได้บ้าง แต่ก็ปรากฏว่ากระแสน้ำรุนแรงซัดกล้าไม้จนซัดหลุดหายไปเป็นส่วนใหญ่
ปัญหานี้เกิดมานานแล้ว แต่ก่อนชายฝั่งมีทั้งพังและงอก 3-4 ปีหลังมานี้มีรุนแรงขึ้น ที่หมดไปเป็นแถบ เพราะไม่มีที่รองรับ อาจจะเป็นเพราะดินอ่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่เหลือป่าชายเลน ชาวบ้านอยากแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งเพราะถ้าปล่อยไว้เกิดซัดไปถึงลำคลองสรรพสามิตจะเสียหายมาก เพราะห่างจากชายฝั่งเพียง 1.5 - 2 กิโลเมตรเท่านั้น อีกไม่กี่ปีคงหมด ถ้าไม่ช่วยกันคิดภายใน 10 ปีกคงหมดไปแน่


แหล่งที่มา:www.google.com